วันจันทร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

 

การสานตะกร้า

      หากย้อนไปในอดีตเมื่อ ๒๐ กว่าปีก่อน งานหัตถกรรมพื้นบ้านของชาวบ้านในอำเภอ หนองบุญมาก จังหวัดนครราชสีมา ก็คงไม่แตกต่างจากชาวบ้านในเขตอื่น ๆ ของภาคอีสานเท่าใดนัก ส่วนใหญ่จะมีความสามารถในการทำเครื่องจักสานต่าง ๆ อาทิ ตะกร้า กระบุง กระเชอ ไม้กวาดทางมะพร้าว ฯลฯ ไว้ใช้กันเองในครัวเรือน ด้วยสภาพภูมิประเทศที่ยังอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพรรณไม้นานาชนิด รวมทั้งป่าไผ่ที่เป็นวัตถุดิบสำคัญในการนำมาทำเป็นเครื่องจักสาน
แต่เมื่อกาลเวลาผันแปร เทคโนโลยีและวัฒนธรรมสมัยใหม่เดินทางมาถึง สภาพภูมิประเทศเปลี่ยนแปลงไป อำเภอหนองบุญมากก็คงไม่แตกต่างจากเขตพื้นที่อื่น ๆ ที่ภูมิปัญญาด้านการทำหัตถกรรมพื้นบ้านค่อย ๆ ถูกทดแทนด้วยข้าวของเครื่องใช้ที่เป็นวัสดุสังเคราะห์ต่าง ๆ เช่น พลาสติก ชาวบ้านผู้มีฝีมือในการจักสานต่างค่อย ๆ ล้มหายตายจากไปตามอายุขัย คงเหลือแต่ผู้สูงอายุที่ยังพอมีเรี่ยวแรง เที่ยวหาลำไผ่ที่นับวันก็หายากขึ้นทุกที มานั่งเหลาเป็นเส้นตอก นำมาสานตะกร้าหรือกระบุงไว้ใช้เองในยามว่าง
   ในหมู่บ้านหนองหัวแรด หมู่ที่ ๑ ตำบลแหลมทอง อำเภอหนองบุญมาก ก็เช่นกัน มีคนเฒ่าคนแก่กลุ่มหนึ่งซึ่งมาตั้งรกรากและสร้างครอบครัวเป็นรุ่นแรกๆ ของชุมชนบ้านหนองหัวแรด หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่าเป็น รากบ้าน คนเฒ่าคนแก่กลุ่มนี้ยังคงใช้เวลาว่างนั่งทำไม้กวาดทางมะพร้าวและตะกร้าสานจากไม้ไผ่เอาไว้ใช้เองและขายให้คนในชุมชน ซึ่งแต่เดิมตะกร้าของชาวบ้านกลุ่มนี้ยังทำจากไม้ไผ่เหมือนในสมัยก่อน ต่อมาเมื่อประมาณปี ๒๕๔๘ จึงได้มีผู้ริเริ่มการสานตะกร้าจากก้านมะพร้าว คือ นางเรี่ย เอบมณฑล อายุ ๗๖ เนื่องจากลูกสาวได้ซื้อตะกร้าสานด้วยก้านมะพร้าวจากตลาดนัดมาให้ดู นางเรี่ยจึงได้ทดลองนำก้านมะพร้าวมาสานตาม
      แม้ว่า นางเรี่ยจะไม่ใช่คนแรกที่คิดค้นการสานตะกร้าจากก้านมะพร้าว แต่ด้วยภูมิปัญญาหรือความรู้เดิมที่มีอยู่เป็นทุนในเรื่องงานจักสาน ทำให้สามารถเรียนรู้การสานตะกร้าจากก้านมะพร้าวได้อย่างรวดเร็ว และนางเรี่ยยังพบว่าการสานก้านมะพร้าวมีขั้นตอนการทำง่ายกว่าไม้ไผ่ ประกอบกับไม้ไผ่ในหมู่บ้านก็หายากมาก ต่างจากต้นมะพร้าวที่ยังมีปลูกกันทั่วไป นางเรี่ยและครอบครัว คือ สามีผู้มีฝีมือในการจักสานเช่นกัน และลูกสาวที่พยายามเรียนรู้จากพ่อแม่ ได้ช่วยกันออกแบบตะกร้าในรูปทรงต่างๆ ใช้เวลาว่างนั่งสานและพัฒนาฝีมือไปเรื่อยๆ จนสามารถจำหน่ายให้คนในหมู่บ้านบ้าง ตามตลาดนัดบ้าง บางครั้งมีคนมาสั่งทำถึงบ้าน เพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้กันก็ฝึกสานตาม ปัจจุบันตะกร้าก้านมะพร้าวจึงกลายเป็นหัตถกรรมพื้นบ้านที่ได้รับความนิยมในชุมชน
ทุกวันนี้ นอกจากนางเรี่ยและครอบครัวที่สานตะกร้าจากก้านมะพร้าวเป็นแล้ว ยังมีเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้เคียงซึ่งก็คือกลุ่มคนเฒ่าคนแก่ที่มีภูมิปัญญาในด้านการจักสานอยู่แล้ว สานตะกร้าจากก้านมะพร้าวเป็นงานยามว่างที่สามารถสร้างรายได้เสริมให้แก่ครอบครัวได้ด้วย
กลุ่มสานตะกร้าจากก้านมะพร้าว บ้านหนองหัวแรด ตำบลแหลมทอง อาจไม่ใช่กลุ่มที่รวมตัวกันอย่างเป็นทางการ ไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ไม่ได้เป็นสินค้าโอท็อป และคนทำเองก็ไม่ได้หวังว่าจะต้องทำเป็นกิจการใหญ่โตเพื่อไปแข่งขันกับสินค้าอื่นๆ ขอเพียงเป็นอาชีพเสริมที่มีรายได้เล็กๆ น้อยๆ อาศัยว่าเป็นการทำงานแก้เหงาของคนในวัยชรา สิ่งที่น่าสนใจศึกษาจากกลุ่มนี้จึงไม่ใช่แค่กระบวนการหรือขั้นตอนการสานตะกร้าเท่านั้น แต่เป็นร่องรอยในอดีตของชุมชน และภูมิปัญญาชาวบ้านอันทรงคุณค่า ที่รอคอยให้คนรุ่นใหม่ได้เข้ามาเรียนรู้และช่วยกันสืบทอดต่อไป
 
     ๑. วัสดุและอุปกรณ์สำหรับสานตะกร้าก้านมะพร้าว
๑.๑ ก้านมะพร้าว
๑.๒ ไม้ไผ่
๑.๓ ปอทอเสื่อ ( ปอเทียมเส้นเล็ก ) ๑.๔ หวายเทียม
๑.๕ ลวด ๑.๖ คีมล็อก
๑.๗ คีมปากนกแก้ว ๑.๘ คีมปากจิ้งจก
๑.๙ กรรไกรตัดกิ่งไม้ ๑.๑๐ เลื่อยสำหรับตัดไม้ไผ่
๑.๑๑ เหล็กแหลม ๑.๑๒ มีดตอก
๑.๑๓ มีดใหญ่ ๑.๑๔ สายวัด
๑.๑๕ เข็มเย็บผ้าเบอร์ใหญ่ ๑.๑๖ ดินสอหรือปากกา
 
     ๒. ขั้นตอนการสานตะกร้าก้านมะพร้าว
 
 
 
๒.๑ เลือกก้านมะพร้าวเหลือง ๆ ไม่อ่อนไม่แก่เกินไป จะทำให้ได้ตะกร้าที่แข็งแรง มีสีสวย ถ้าเป็นก้านที่แก่มากจะทำให้สีคล้ำ หรืออ่อนเกินไปจะออกสีเขียวอ่อนและไม่แข็งแรง มะพร้าวน้ำหอมจะมีก้านที่สั้นกว่ามะพร้าวใหญ่หรือมะพร้าวที่ใช้ทำขนมและแกงกะทิ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชิ้นงานว่าต้องการตะกร้าใบใหญ่หรือใบเล็ก
๒.๒ นำก้านมะพร้าวมาเหลาใบออก ใช้มีดขูดให้เกลี้ยง จากนั้น นำไปตากแดดให้แห้งเพราะจะทำให้สานตะกร้าได้แน่น ไม่หลวม และช่วยป้องกันไม่ให้ขึ้นราได้ง่าย
๒.๓ เหลาไม้ไผ่ให้เป็นเส้นแบน ๆ ความหนาแล้วแต่ความต้องการ เพื่อใช้ขดเป็นวงสำหรับทำโครงตะกร้า ต้องการให้เป็นรูปทรงใดอยู่ที่ขั้นตอนนี้ ตะกร้า ๑ ใบใช้โครงไม้ไผ่ ๕ อัน ประกอบเป็นส่วน ก้นตะกร้า ๒ อัน ตัวตะกร้า ๑ อัน (ส่วนกลาง ) และปากตะกร้า ๒ อัน
๒.๔ นำก้านมะพร้าวที่เหลาและตากแดดเรียบร้อยแล้วมาสานไขว้กันไปมา ให้มีความถี่ห่างแล้วแต่ความต้องการ โดยเริ่มสานกับโครงไม้ไผ่ส่วนที่เป็นตัวตะกร้า ใช้ปอทอเสื่อที่ร้อยเข็มแล้วมัดให้ก้านมะพร้าวกับโครง ไม้ไผ่ติดกัน ขั้นตอนนี้ต้องพยายามจัดก้านมะพร้าวให้เรียงเสมอกัน และมัดด้วยปอทอเสื่อให้แน่นหนา
๒.๕ เมื่อสานส่วนตัวตะกร้าจนรอบแล้วจึงสานก้นตะกร้าโดยใช้โครงไม้ไผ่ประกัน ๒ วง และมัดด้วยลวด และหวายเทียม
๒.๖ จากนั้นนำโครงไม้ไผ่อีก ๒ อัน ประกบตรงส่วนปากตะกร้า ใช้ลวดและหวายเทียมมัดเช่นกัน ขั้นตอนนี้จะตกแต่งปากตะกร้าด้วยการสานหวายเทียม
๒.๗ รวบก้านมะพร้าวส่วนที่เหลือทั้งสองข้างไว้ด้วยกัน แล้วนำก้านมะพร้าวทั้งสองข้างมัดเชื่อมต่อกันด้วยหวายเทียมเพื่อเป็นหูตะกร้า ตัดก้านมะพร้าวที่ยาวเกินไปออกและตกแต่งให้เรียบร้อย
ร่วมเรียนรู้และขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
 นางเรี่ย เอบมณฑล อายุ 76 ปี
อยู่บ้านเลขที่ 155 หมู่ 1 ตำบลแหลมทอง อำเภอหนองบุญมาก จังหวัดนครราชสีมา
 
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น